วัดสร้างชาติ (วสช.)

ความสำคัญ

วัดเป็นสถาบันหลักในการปกครองและการดำเนินกิจการของคณะสงฆ์และพระศาสนาที่สำคัญยิ่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการดำเนินงานให้บรรลุความสำเร็จของแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2560-2564 ตามพันธกิจในด้านการปกครอง ด้านศาสนศึกษา ด้านศึกษาสงเคราะห์ ด้านเผยแผ่ ด้านสาธารณูปการ และด้านสาธารณสงเคราะห์ ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและพลังการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ตลอดจนการพัฒนาพระสังฆาธิการในฐานะของผู้นำองค์กรสงฆ์ในพื้นที่ต่างๆ และคณะกรรมการวัด รวมทั้งหน่วยงานทางศาสนาต่าง ๆ ให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปพร้อมกันด้วย

สถาบันการสร้างชาติ (NBI) จดทะเบียนในนามมูลนิธิสถาบันการสร้างชาติ โดยมี ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เป็นประธานสถาบันฯ และพระเดชพระคุณ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันฯ การทำงานของสถาบันฯ มุ่งสร้างภาคีความร่วมมือระหว่างผู้บริหารภาครัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ ผ่านการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ  ที่ช่วยพัฒนาภาวะการนำ ภาวะการบริหาร และภาวะคุณธรรม ให้กับผู้บริหารในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ตลอดจนเยาวชนจากทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือบูรณาการงานในการสร้างชาติและนำประเทศไทยให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ช่วยสร้างชาติให้เจริญสู่อารยะประเทศ

สถาบันฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเพิ่มศักยภาพของพระสังฆาธิการให้เกิดร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาวัดสู่การเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาพระศาสนาและสังคมตามวิสัยทัศน์ของแผนยุทธศาสตร์ที่ว่า “พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน” สถาบันฯ จึงได้กำหนดจัดการเรียนการสอนหลักสูตร “วัดสร้างชาติ (วสช.)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างพัฒนาภาวะการนำ ภาวะการบริหาร และภาวะคุณธรรมให้แก่ผู้นำในกิจการพระศาสนา เช่น พระสังฆาธิการ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาของสงฆ์ ไวยาวัจกร กรรมการวัด รวมทั้งผู้บริหารหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมพระศาสนา และฆราวาสที่มีความประสงค์และเจตจำนงมุ่งมั่นในการสนับสนุนส่งเสริมการปฏิรูปพระศาสนา ให้ได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ ได้ขยายมุมมองมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี การบริหารในบริบทภายในและภายนอกประเทศที่เชื่อมโยงกับบทบาทของวัดในการนำสังคมและการพัฒนาประเทศ พร้อมกับการขับเคลื่อนตน บริหารคน ร่วมกับการพัฒนาวัด พัฒนาคน พัฒนาชุมชน และพัฒนาสังคม ไปพร้อมกัน เป็นการมุ่งสร้างผู้เรียนให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change maker) เพื่อช่วยสร้างชาติในบทบาทที่เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคลพร้อมนำประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศอารยะต่อไป

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

1. ขยายศักยภาพของผู้เรียนให้มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ยึดมั่นในคุณธรรม มีจริยธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดที่เปิดกว้าง เข้าใจความเปลี่ยนแปลง มองอนาคต คิดเชิงรุก กล้าทำสิ่งใหม่ สิ่งที่มีคุณค่า
3. เพิ่มเติมความรอบรู้ในศาสตร์สมัยใหม่ที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง การบริหารกิจการสงฆ์ การพัฒนาองค์กรสงฆ์เพื่อการสร้างประเทศให้พัฒนาสู่อารยะประเทศ
4. เสริมสร้างทักษะการนำ (Leadership) การบริหาร (Management) ของผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ
5. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในหมู่สงฆ์และฆราวาสให้ร่วมกันพิจารณาหาทางพัฒนากิจการพระศาสนาและประเทศแบบบูรณาการ ด้วยภาวะการนำและการบริหารงานสมัยใหม่ และกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนำประเทศเจริญสู่ความเป็นอารยะได้
6. สรรหาและสรรสร้างชุมชนพระสร้างชาติในแต่ละรุ่น และข้ามรุ่น ข้ามหลักสูตร เพื่อจะเป็นประชาคมสงฆ์ที่พร้อมร่วมกันสร้างชาติให้อารยะ

คุณสมบัติของผู้เข้าเรียน

1. เป็นพระสังฆาธิการ (เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส) หรือ
2. ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ (อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี) หรือ
3. พระที่ได้รับมอบหมายจากพระสังฆาธิการ มีพรรษา ๑๐ และเป็นเปรียญธรรม หรือจบนักธรรมชั้นเอก หรืออยู่ในระหว่างการศึกษา และได้รับการอนุญาตจากเจ้าอาวาสวัดที่สังกัด หรือ
4. ไวยาวัจกร หรือคณะกรรมการวัด ที่ได้รับการรับรองจากเจ้าอาวาสวัดที่สังกัด หรือ
5. ผู้บริหารหน่วยงานที่มีภารกิจส่งเสริมพระศาสนาโดยตรงในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคสังคม เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนา พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ หรือ
6. ผู้สำเร็จหลักสูตรของสถาบันการสร้างชาติที่กรรมการรับรอง หรือ
7. ผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตามประกาศของสถาบันฯ

เนื้อหาของหลักสูตร

หลักสูตรนี้ถูกออกแบบให้ผสมผสานระหว่างการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ เชื่อมโยงเข้ากับภาวะการนำองค์กร การกำหนดและบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและการบริหารองค์กรสมัยใหม่ รวมถึงภาวะความเป็นผู้นำของผู้เรียน บนฐานของหลักคิดในเชิงคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change maker) เป็นนวัตกรทางสังคม (social innovator) ผู้ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์กรสงฆ์ที่เชื่อมโยงสู่การพัฒนาสังคมและประเทศในทางสร้างสรรค์ตามวัตถุประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2560-2564

หลักสูตรการเรียนรู้ทั้งหมด ประกอบด้วย

**1. การเรียนรู้ภาควิชาการในชั้นเรียน **
เป็นการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายในและต่างประเทศ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 หมวด คือ

1.1 หมวดการสร้างชาติสู่ความอารยะ
เนื้อหาในหมวดนี้ว่าด้วยหลักคิดการสร้างชาติอย่างอารยะของสถาบันการสร้างชาติ ซึ่งสถาบันการสร้างชาติได้พัฒนาหลักคิดและแม่แบบ (Blueprint) ของการพัฒนาตน สังคม และประเทศเชิงบูรณาการที่ผ่านการศึกษาวิจัย กลั่นกรอง ตรวจสอบมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งหลายส่วนมีความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2560-2564

1.2 หมวดการพัฒนาตนสู่ไตรภาวะการสร้างชาติ: ภาวะการนำ ภาวะการบริหาร ภาวะคุณธรรม
เนื้อหาในหมวดนี้มุ่งพัฒนาผู้เรียนในด้านภาวะการนำและภาวะการบริหารตนเอง บริหารผู้อื่น บริหารองค์กรให้พัฒนาก้าวหน้า เป็นเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับพลวัตของโลกในปัจจุบันและอนาคต ช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวให้เข้ากับพลวัตของโลกที่เปลี่ยนไป และนำองค์กรสู่การบรรลุเป้าหมายได้

1.3 หมวดการพัฒนาองค์กรสู่วัดสร้างชาติ
เนื้อหามุ่งขยายมุมมองผู้เรียนในการบริหารจัดการวัดตามพันธกิจ 6 ด้าน เพื่อมีพลังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมรอบข้างวัดได้ ตลอดจนการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางของชีวิตและชุมชน

2. การเรียนรู้นอกชั้นเรียน
การเรียนรู้นอกชั้นเรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักสูตรนี้ เพราะนอกจากจะช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้เรียนแล้ว ยังช่วยให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในชั้นเรียนกับการปฏิบัติจริงด้วย ทั้งนี้ กำหนดการเรียนรู้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

 2.1 การเรียนรู้ดูงานภายในประเทศ
เป็นการจัดการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ภาคสังคม หรือหน่วยงานระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ภายในประเทศ ที่มีตัวอย่างการทำงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบความเปลี่ยนแปลง (Impact) ในทางบวกกับประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานที่ไปเยี่ยมศึกษา โดยผู้เรียนจะได้สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดูงานกับความรู้จากการเรียนภาควิชาการในชั้นเรียน
    
2.2 การเรียนรู้ดูงานในต่างประเทศ
เป็นการเดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาประเทศและพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆ ในประเทศต้นแบบ (best practice) ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาภายใต้แนวเรื่อง (theme) ที่กำหนดไว้สำหรับผู้เรียนแต่ละรุ่น และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาวัดสร้างชาติ ทั้งนี้ ผู้เรียนมีหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาดูงาน

3. การจัดทำโครงการ Cap-Corner Stone และเอกสารวิชาการ
ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจะร่วมกันพัฒนาโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในระยะเวลาการศึกษา โดยโครงการมีจุดมุ่งหมายช่วยส่งเสริมการพัฒนาวัดสร้างชาติในด้านใดด้านหนึ่ง ตลอดจนช่วยส่งเสริมต่อพันธกิจของสงฆ์และวัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเจาะจง วัตถุประสงค์สำคัญคือการที่ผู้เรียนได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้จริง และลงมือปฏิบัติจริงในฐานะของนวัตกรทางสังคม (social innovator) แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงและการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เอาไปปฏิบัติจริง และวัดผลกระทบเชิงสัมฤทธิผลได้ โดยเป็นการดำเนินการตามกระบวนการโมเดล 3I Innovation Model (Ideation-Implementation-Impact) ของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ซึ่งหลังจากทำโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ผู้เรียนจะต้องทำการประเมินผลโครงการ ถอดบทเรียนที่ได้เรียนรู้ เพื่อนำเสนอผลการปฏิบัติจริงให้เพื่อนร่วมรุ่นได้เรียนรู้ด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจะต้องร่วมกันจัดทำเอกสารผลงานวิชาการของกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยผลงานวิชาการของสมาชิกแต่ละบุคคลในกลุ่ม โดยจัดทำขึ้นตามแนวทางการจัดทำเอกสารวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร นสช. เมื่อนักศึกษาแต่ละคนได้จัดเอกสารวิชาการส่วนบุคคลของตนเองแล้ว ให้รวบรวมผลงานเป็นเอกสารวิชาการของกลุ่ม และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือหรืออิเล็กทรอนิกส์ที่พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะและส่งให้กับสถาบันฯ ตามกำหนด    

4. การนำเสนอผลงาน
กำหนดการนำเสนอผลงาน โดยสถาบันการสร้างชาติจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการมาช่วยให้คำแนะนำกับผู้เรียนแต่ละกลุ่มในวันนำเสนอผลงานด้วย

ระยะเวลาเรียนและสถานที่

• การเรียนกำหนดระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ช่วงก่อน หรือหลังเข้าพรรษา (งดเว้นการเรียนในช่วงฤดูเข้าพรรษา)
• กำหนดเวลาเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน เวลา 09.00 - 18.00 น.
09.00 – 11.00  คาบเรียน 1
11.00 – 12.30  ฉันภัตตาหารเพล และประชุมกลุ่ม
12.30 – 14.30  คาบเรียน 2
14.30 – 16.00  คาบเรียน 3
16.00 – 16.30  ประชุมคณะทำงาน
16.30 – 18.00  คาบเรียน 4

 

 

เงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา

1. ต้องมีเวลาเรียนในชั้นเรียนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด
2. ต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกกิจกรรมตลอดหลักสูตร
3. ต้องได้รับการประเมิน “ผ่าน” ในการจัดทำเอกสารรายงานต่าง ๆ และการนำเสนอผลงานกลุ่ม
4. ต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงของสถาบันการสร้างชาติ

ประกาศนียบัตรและเข็มวิทยฐานะที่จะได้รับ

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้ประกาศนียบัตรและเข็มแสดงวิทยฐานะจาก สถาบันการสร้างชาติ

สิทธิพิเศษที่ผู้เรียนจะได้รับหลังสำเร็จการศึกษา

หลังสำเร็จการเรียนรู้จากหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนมีสิทธิสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมศิษย์เก่าสถาบันการสร้างชาติ (NBI Alumni) ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษดังนี้
1. สิทธิพิเศษในการได้รับพิจารณาอันดับต้น (Priority) หากต้องการเข้าเรียนในหลักสูตรอื่นของ NBI ในอนาคต
2. สิทธิสมัครเป็นสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าสถาบันการสร้างชาติ
3. สิทธิเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษที่ NBI จัดขึ้น เช่น International Conference on Nation-Building (ICNB), Dinner Talk, Special Lecture ของผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากต่างประเทศ ส่วนลดค่าบัตรเข้าร่วมงาน งานกอล์ฟการกุศล ฯลฯ
4. เข้าร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์เพื่อการพัฒนาประเทศของนักศึกษารุ่นต่าง ๆ ของสถาบัน เพื่อช่วยขยายเครือข่ายชุมชนคนสร้างชาติผู้มีความตั้งใจพัฒนาประเทศ