หลักสูตร นักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติภาคตะวันออก EEC (นสช. EEC)
Senior Executive Program for Nation-Building of the Eastern Economic Corridor
ความสำคัญ
โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นแผนยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการขับเคลื่อน เศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพผ่านกลไกการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดเป้าหมายนี้ยังส่งผลกระจายการพัฒนาเชื่อมโยงไปยังจังหวัดรอบข้างในภาคตะวันออกที่เหลือคือนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และสระแก้วด้วย
การขับเคลื่อนพื้นที่เป้าหมายให้เกิดการพัฒนาอย่างครบถ้วน สมดุลย์ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพ ชีวิตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดึงพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของพื้นที่ อันได้แก่ หนึ่ง ภาครัฐกิจ ผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กฎหมาย และการบังคับใช้ รวมทั้งการกำกับดูแลสังคมให้อยู่ในระบบระเบียบ และการจัดบริการสาธารณะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน สอง ภาคธุรกิจ ทำหน้าที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความจำเป็นและความต้องการด้านอุปโภคบริโภคของประชาชน แหล่งการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในสังคม สร้างนวัตกรรมที่ช่วยให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น และสาม ภาคประชากิจหรือภาคสังคม ทำหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องที่ภาครัฐยังไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เต็มที่ รวมทั้งการเสริมความเข้มแข็งของประชาชนโดยการช่วยพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของประชาชน เช่น การฝึกอาชีพ กิจกรรมจิตอาสา ฯลฯ ตลอดจนการติดตามดูแลการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมกับประชาชน การทำให้พื้นที่ EEC และภาคตะวันออกพัฒนาได้อย่างสมดุล จำเป็นที่ทั้ง 3 ภาคส่วนต้องมีความเข้มแข็ง และทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล ช่วยผสานจุดแข็งและเติมเต็มจุดอ่อนของกันและกัน
เงื่อนไขสำคัญของการสร้างภาคส่วนที่เข้มแข็งคือ การสร้างผู้นำที่มีขีดความสามารถสูงให้เกิดในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้นำที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาค ประเทศ และโลกในอนาคต สามารถริเริ่มสร้างสรรค์ บริหาร และพัฒนาองค์กรให้เติบโตเข้มแข็งพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นเพื่อช่วยพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ก้าวหน้าสู่อนาคตอย่างประสบความสำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ สถาบันการสร้างชาติ (Nation-Building Institute – NBI) จึงได้ร่วมกับภาคีจากภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม จัดหลักสูตร “นักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติภาคตะวันออก EEC” เพื่อช่วยเสริมสร้างภาวะคุณธรรมและความเป็นผู้นำของผู้เรียน สร้างผู้เรียนให้เป็นผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง ไปช่วยสร้างชาติในบทบาทที่เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละคน เพื่อพร้อมนำประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
- เพื่อพัฒนาผู้นำในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน/ภาคสังคมที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ยึดมั่นในคุณธรรม มีจริยธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
- เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิด (Mindset) ที่เปิดกว้าง เข้าใจความเปลี่ยนแปลง มองอนาคต คิดเชิงรุก กล้าทำสิ่งใหม่ ในบริบทการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก
- เพื่อเพิ่มเติมความรอบรู้ในศาสตร์สมัยใหม่ที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง การบริหารองค์กร และการจัดการเชิงพื้นที่ให้พัฒนาสู่อนาคต
- เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการนำ (Leadership) และการบริหาร (Management) นำสู่การพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- เพื่อให้เกิดกระบวนการกลุ่มของผู้บริหารระดับสูงในภาคส่วนทั้ง 3 มาร่วมกันพิจารณาหาทางพัฒนาจังหวัดและพื้นที่แบบบูรณาการทุกภาคส่วน ด้วยการบริหารงานสมัยใหม่ และกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยได้
ขีดสมรรถนะ (Competency) ของผู้เรียนหลังจากสำเร็จการศึกษา
- สามารถกำหนดเป้าหมายและตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
- รับรู้ เข้าใจ ในข้อเท็จจริงของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ EEC ที่จะเกิดในอนาคตได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียง ผิวเผิน และสามารถจัดการได้อย่างตรงจุดตรงประเด็น
- คิดอย่างเป็นระบบแล้วเชื่อมโยงสู่กลยุทธ์และการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้
- คิดแบบรอบด้านเพื่อตัดสินใจและแก้ไขปัญหาในเชิงลึกได้อย่างแม่นยำ
- ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและประเทศ
- สามารถนำผู้อื่นและองค์กร และการส่งผ่านพลังทางบวกต่อคนรอบข้างให้ยินดีร่วมกันทำงานมุ่งสู่ความสำเร็จร่วมกันได้
คุณสมบัติของผู้เข้าเรียน
เป็นผู้บริหารปัจจุบันหรืออดีตผู้บริหารในหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานภาคสังคม มูลนิธิ องค์กรการกุศล องค์กรระหว่างประเทศ โดยครอบคลุมกลุ่มต่าง ๆ ต่อไปนี้
- สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ข้าราชการพลเรือนประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ วิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ประเภทอำนวยการระดับสูง ประเภทบริหารระดับต้น หรือบริหารบริหารระดับสูง (เทียบเท่าซี 9 ขึ้นไป)
- ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งนายก รองนายก สมาชิกสภา ปลัด หรือ รองปลัด
- ผู้บริหารส่วนราชการประเภทอื่น หน่วยงานตุลาการ องค์กรอิสระ ตำรวจ ทหาร ต้องเป็นผู้บริหารหน่วยงานระดับภาคหรือจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก
- ผู้บริหารระดับสูงในรัฐวิสาหกิจ
- ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือสถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชน
- ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ข้าราชการพลเรือน หรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งบริหาร
- ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิ สมาคม องค์กรไม่แสวงกำไร กิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม
- ผู้ประกอบกิจการ ผู้บริหารระดับสูงของกิจการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี (นับจนถึงวันเริ่มเรียน)
- เป็นบุคคลที่คณะอนุกรรมการรับสมัครมีมติเห็นสมควรให้เข้ารับการศึกษาอบรม
เนื้อหาของหลักสูตร
หลักสูตรนี้ถูกออกแบบให้ผสมผสานระหว่างการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลวัตการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ภาคตะวันออก ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศและโลกในอนาคต ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ ให้ผู้เรียนได้พัฒนาภาวะการเป็นผู้นำ ภาคการบริหาร การกำหนดและบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรสมัยใหม่ บนฐานของหลักคิดในเชิงคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้เป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ ร่วมกับการศึกษาดูงานหน่วยงานที่สร้างผลกระทบความเปลี่ยนแปลง (Impact) ในระดับประเทศและระหว่างระหว่างประเทศ
หลักสูตรการเรียนรู้ทั้งหมด 5 ส่วน ประกอบด้วย
1. การปฐมนิเทศและกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ “พบเพื่อนใหม่”
ผู้เข้าเรียนในหลักสูตรทุกคนต้องเข้าร่วมการปฐมนิเทศและกิจกรรม “ค่ายสานสัมพันธ์” ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน โดยมีทั้งกิจกรรมวิชาการ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมสันทนาการ เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจวัตถุประสงค์และกระบวนการเรียนรู้ตลอดหลักสูตร รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในรุ่นด้วย
2. การเรียนรู้ภาควิชาการในชั้นเรียน
เป็นการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายในและต่างประเทศ แบ่งช่วงเวลาการเรียนดังนี้
- ลงทะเบียน เวลา 12.45 - 13.00 น.
- ช่วงที่ 1 เวลา 13.00 - 15.30 น.
- พักเบรก เวลา 15.30 - 16.00 น.
- ช่วงที่ 2 เวลา 16.00 - 18.00 น.
- ช่วงเวลา 18.00 - 21.00 น. อาหารเย็นและกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์สังสรรค์ประจำสัปดาห์
3. การเรียนรู้นอกชั้นเรียน
การเรียนรู้นอกชั้นเรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักสูตรนี้ เพราะนอกจากจะช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้เรียนแล้ว ยังช่วยให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในชั้นเรียนกับการปฏิบัติจริงด้วย ทั้งนี้ กำหนดการเรียนรู้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
3.1 การเรียนรู้ดูงานภายในประเทศ
เป็นการจัดการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ภาคสังคม หรือหน่วยงานระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ภายในประเทศ ที่มีตัวอย่างการทำงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบความเปลี่ยนแปลง (Impact) ในทางบวกกับพื้นที่ภาคตะวันออกและประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานที่ไปเยี่ยมศึกษา โดยผู้เรียนจะได้สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดูงานกับความรู้จากการเรียนภาควิชาการในชั้นเรียน
3.2 การเรียนรู้ดูงานในต่างประเทศ
เป็นการเดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาประเทศและพัฒนาองค์กรในด้านต่าง ๆ (นโยบายและการปฏิบัติในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม) ในประเทศต้นแบบ (Best practice) ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาภายใต้แนวเรื่อง (Theme) ที่กำหนดไว้สำหรับผู้เรียนแต่ละรุ่น เช่น เน้นเรื่องนวัตกรรม หรือเรื่องการสร้างมั่นคงด้านต่าง ๆ ของประเทศ (อาหาร พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศ) ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องส่งรายงานกลุ่มเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาดูงาน
4. การจัดทำโครงการ Cap-Corner stone และเอกสารวิชาการรายบุคคลและกลุ่ม
ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจะร่วมกันพัฒนาโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงโดยมีระยะเวลาการศึกษา โดยที่โครงการจะต้องมีจุดมุ่งหมายช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศหรือองค์กรในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเจาะจง เป็นเรื่องที่มีผลเพื่อส่วนรวม วัตถุประสงค์สำคัญคือการที่ผู้เรียนได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้จริง และลงมือปฏิบัติจริงด้วย แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงและการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เอาไปปฏิบัติจริง ทั้งนี้ อาจเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนางานเฉพาะภาครัฐ เฉพาะภาคเอกชน เฉพาะภาคสังคม หรือเป็นโครงการที่ดำเนินการในลักษณะของความร่วมมือข้ามภาคส่วนก็ได้ โดยเป็นการดำเนินการตามกระบวนการ Ideation-Implementation-Impact ซึ่งหลังจากทำโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ผู้เรียนจะต้องทำการประเมินผลโครงการ ถอดบทเรียนที่ได้เรียนรู้ เพื่อนำเสนอผลการปฏิบัติจริงให้เพื่อนร่วมรุ่นได้เรียนรู้ด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้เรียนแต่ละกลุ่มจะต้องร่วมกันจัดทำเอกสารผลงานวิชาการของกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยผลงานวิชาการของสมาชิกแต่ละบุคคลในกลุ่ม โดยจัดทำขึ้นตามแนวทางการจัดทำเอกสารวิชาการของสถาบันการสร้างชาติ เมื่อนักศึกษาแต่ละคนได้จัดเอกสารวิชาการส่วนบุคคลของตนเองแล้ว ให้รวบรวม ผลงานเป็นเอกสารวิชาการของกลุ่ม และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม (หนังสือ) ที่พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะและส่งให้กับสถาบันฯ ตามกำหนด
5. การนำเสนอผลงานและปัจฉิมนิเทศ
กำหนดการนำเสนอผลงานไว้ในเดือนสุดท้ายของการเรียน โดย NBI จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม เช่น นักวิชาการ นักบริหาร นักกิจกรรมสังคม ฯลฯ มาร่วมให้ความเห็น คำแนะนำกับผู้เรียนแต่ละกลุ่มในวันนำเสนอผลงานด้วย และมีการคัดเลือกและมอบรางวัลเอกสารผลงานวิชาการดีเด่นประจำรุ่นด้วย
ระยะเวลาเรียนและสถานที่
- การเรียนกำหนดระยะเวลา 6 เดือน
- ทุกวันพุธ เวลา 12.45 – 18.30 น. ภาควิชาการ และเวลา 18.30-21.00 น. อาหารเย็นและสังสรรค์
- สถานที่จัดการเรียนคือ
โรงแรมโนโวเทลระยองสตาร์คอนเวนชั่น จังหวัดระยอง
เงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา
นักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาได้จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- ต้องมีเวลาเรียนในชั้นเรียนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด
- ต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกกิจกรรมตลอดหลักสูตร (การปฐมนิเทศ – การเรียนภาควิชาการ – ศึกษาดูงานภายในประเทศ – นำเสนอผลงานโครงการ – ปัจฉิมนิเทศ)
- ต้องได้รับการประเมิน “ผ่าน” ในการจัดทำเอกสารรายงานต่าง ๆ และการนำเสนอผลงานกลุ่ม
- ต้องไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงของสถาบันการสร้างชาติ
ประกาศนียบัตรและเข็มวิทยฐานะที่จะได้รับ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้ประกาศนียบัตรและเข็มแสดงวิทยฐานะระดับประกาศนียบัตรจาก สถาบันการสร้างชาติ
สิทธิพิเศษที่ผู้เรียนจะได้รับหลังสำเร็จการศึกษา
หลังสำเร็จการเรียนรู้จากหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนจะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมศิษย์เก่าสถาบันการสร้างชาติ (NBI Alumni) โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะมีสิทธิพิเศษดังนี้
- สิทธิพิเศษในการได้รับพิจารณาอันดับต้น (Priority) หากต้องการเข้าเรียนในหลักสูตรอื่นของ NBI ในอนาคต
- สิทธิเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรม NBI
- สิทธิเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษที่ NBI จัดขึ้น เช่น International Conference on Nation-Building ประจำปี, Dinner Talk, Special Lecture ของผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากต่างประเทศ ส่วนลดค่าบัตรเข้าร่วมงานกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันฯ
- เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศของนักศึกษารุ่นต่างๆ ของสถาบัน เพื่อช่วยขยายเครือข่ายผู้มีความตั้งใจพัฒนาประเทศ
ติดต่อ
สถาบันการสร้างชาติ
Nation-Building Institute (NBI)
เลขที่ 87/110 อาคารโมเดอร์นทาวน์ ชั้น 14
ซอยเอกมัย 3 ถนนสุขุมวิท 63
แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา
กรุงเทพฯ 10110
โทร: 02-7117474 , 0970512370, 0970509368, 0970491586
แฟกซ์: 0 2382 1565 อีเมล์: info@nbi.in.th